เหตุการณ์วันนั้นมันทำให้ป้าเห็นภาพอะไรชัดเจนมากขึ้น
กับนักศึกษาที่มีฐานะยากจน แต่ต้องเดินทางมาเรียนในกรุงเทพฯ
ต้องใช้ชีวิตในเมืองหลวง เจอกับปัญหาค่าใช้จ่ายมากมาย เวลาไม่มีเงิน
แล้วหิวจะทนได้ไหม แล้วจะทำอย่างไร ป้าเริ่มคิด แล้วคิดว่า เราขายข้าว
เรามีกำลัง เด็กคนไหนไม่มีเงินซื้อข้าวเดินเข้ามาหาป้าได้เลย ป้าทำให้กิน
ป้าแค่อยากจะช่วยให้เขาสบายท้องเวลาเรียนจะได้ไม่ต้องกลุ้มใจ
แขวนท้องไส้จะขาด ป้าเล็ก บอก
ที่คนมักพูดกันว่า "น้ำใจไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย" ดูท่าจะเป็นเรื่องจริงอย่างไม่ต้องสงสัย
เพราะเรื่องราวของ "ป้าเล็ก" แห่งคณะวนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะนำเสนอต่อไปนี้
ก็ยิ่งตอกย้ำคำ ๆ นี้ให้หนักแน่นมากยิ่งขึ้น
เชื่อเลยว่า ไม่มีคณาอาจารย์ หรือนักศึกษาคนไหนในคณะวนศาสตร์
ไม่รู้จัก "ป้าเล็ก" ศรีสะอาด หนูใจคง ผู้ประกอบอาชีพขายกับข้าว
อยู่ในรั้วนนทรีมานานกว่า 40 ปีแล้ว
แต่ระยะเวลาที่ยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ทุกคน
รู้จักป้าเล็ก เพราะเหตุผลจริง ๆ ที่ป้าเล็ก เป็นที่กล่าวขานไปทั่ว
ในหมู่นักศึกษาก็คือ ความมีน้ำจิตน้ำใจของเธอเอง
ในฐานะ "แม่ครัวหัวใจอารี"
ที่มาของสมญานามนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยป้าเล็ก เล่าว่า ในเวลาประมาณตี 4 ของวันหนึ่ง ขณะที่ป้าเล็กกำลังจัดเตรียมกับข้าวที่หน้าร้านอยู่ ก็มีนักศึกษาชายของคณะวนศาสตร์คนหนึ่ง เดินมาขอร้องให้ป้าเล็ก ช่วยทำข้าวกล่องให้ เพื่อจะนำไปทานระหว่างเดินทางกลับบ้าน ที่จังหวัดศรีสะเกษ เพราะตัวเองไม่มีเงินซื้อข้าว ด้วยความสงสัย ป้าเล็กจึงถามไปว่า ลูกไม่มีเงินแล้วจะกลับบ้านอย่างไร เด็กหนุ่มคนดังกล่าวจึงตอบว่า เขาจะอาศัยโบกรถชาวบ้าน เพื่อขอติดรถไปลงระหว่างทาง ได้ยินเช่นนั้น ด้วยความสงสาร ป้าเล็กก็ไม่รีรอตัดสินใจควักเงินให้เด็กหนุ่ม นำไปซื้อตั๋วรถเดินทางกลับบ้านทันที และไม่กี่วันถัดจากนั้น เด็กหนุ่มคนดังกล่าวซึ่งเดินทางกลับมากรุงเทพฯ แล้วก็ได้นำถั่วดินที่ขุดมาเองกับมือมาให้ป้าเล็กเป็นการตอบแทน
จากวันนั้นถึงวันนี้ ทุกครั้งที่มาขายของป้าเล็กจะทำอาหารเผื่อไว้ ครั้งละมาก ๆ ทั้งขายบ้าง และเผื่อแผ่ให้กับเด็กยากจนได้กินฟรีอิ่มท้อง มาโดยตลอด โดยคิดว่า หากตัวเองให้อะไรผู้อื่นได้ ก็ไม่ต้องรีรออะไร แม้เรื่องนี้อาจจะดูเป็นเพียงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ป้าเล็กกลับบอกว่า มันเป็นงานที่มีค่ามาก เพราะเธอกำลังช่วยเหลือกำลังสำคัญของชาติ ที่จะไปพัฒนาประเทศในอนาคต และป้าเล็กก็ยืนยันว่า จะทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายจะทำไม่ไหวแล้ว ซึ่งถึงตอนนั้น ลูกสาวของป้าก็คงมารับช่วงต่อไป เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ป้าเล็กทำให้กับคนอื่นแล้วมีความสุขมากนั่นเอง
"การเห็นใจ การแบ่งปันให้กับผู้อื่นมันสำคัญมาก ป้าไม่สามารถสอนให้ใครทำความดีได้ ถ้าเขาไม่เริ่มลงมือทำ แต่ป้าอยากฝากบอกว่า การให้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เราทุกคนสามารถทำได้ แค่คุณเริ่มทำเท่านั้นเอง" ป้าเล็ก ทิ้งท้ายด้วยข้อคิดดี ๆ ดูรอยยิ้มของป้าเล็ก ศรีสะอาด แล้ว ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า ความสุขของ "ผู้ให้" เป็นอย่างไร นี่กระมังถึงมีคนพูดว่า "มือของผู้ให้ย่อมอยู่สูงกว่ามือของผู้รับเสมอ" นั่นก็เพราะจิตใจของผู้ให้ช่างสูงส่งกว่าผู้รับนั่นเอง
No comments:
Post a Comment